top of page

เจาะฐาน 'ป๊อปปูลาร์โหวต' จุดเดือดสนาม 'ผู้ว่าฯกทม.'


การขยับเปิดตัวกับคนกรุงเทพฯ ของว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.ในสถานการณ์ “โควิด” นาทีนี้ เป็นความเคลื่อนไหวเพื่อสะสมเสียงสนับสนุน ก่อนถึงคิวเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.

จากข้อมูลศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชนล่าสุด เรื่อง “อยากได้ใครเป็นผู้ว่าฯ กทม. ครั้งที่ 4” ถึงแม้ตัวเลข 27.98% ชี้ว่า ยังไม่ตัดสินใจ แต่ผลสำรวจอันดับสอง 26.16 % กลับมีชื่อ “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์“ อดีต รมว.คมนาคม และอันดับสาม 14.60 % สนับสนุน พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

ขณะที่อันดับสี่ 9.58 % ยังเป็นชื่อ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯกทม.คนปัจจุบัน อันดับห้า 4.87 % เป็นผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทยอันดับหก 3.58 % เป็นผู้สมัครจากคณะก้าวหน้า หรือพรรคก้าวไกล

ถึงแม้ปฏิทินเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ยังไม่มีความชัดเจนจากรัฐบาลจะเห็นชอบให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) จัดเลือกตั้งได้เมื่อใด จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิดระลอกใหม่ แต่การจัดทำ “โพล“ จากสำนักโพลหลายแห่ง เป็นเหมือนเสียงสะท้อนจากคนกรุงเทพฯ ช่วงหนึ่งที่มีต่อกระแสเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.

หากย้อนไปถึงตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม.ที่มาจากการเลือกตั้งครั้งล่าสุด ต้องย้อนไปเมื่อ 3 มี.ค.2556 ในครั้งนั้น ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร จากพรรคประชาธิปัตย์ ได้คะแนนเสียงเลือกตั้งถล่มทลายมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ที่ 1,256,349 คะแนน เอาชนะอันดับ 2 พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ จากเพื่อไทยซึ่งได้คะแนน “ทะลุล้าน” เช่นกัน ที่ 1,077,899 คะแนน

เป็นคะแนนเสียงคนกรุงเกินล้าน ส่งให้ “สุขุมพันธ์“ เข้ามาครองอำนาจไร้รอยต่อให้พรรคประชาธิปัตย์ ในศาลาว่าการ กทม.อีกสมัยตั้งแต่ยุค “อภิรักษ์ โกษะโยธิน” ชนะการเลือกตั้งเมื่อ 30 ส.ค.2547 และอยู่ในตำแหน่งเรื่อยมาจนถึงคำสั่ง คสช. 64/2559 ลงวันที่ 18 ต.ค.2559 ปลด “สุขุมพันธ์” ออกจากตำแหน่ง พร้อมแต่งตั้งพล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง จากรองผู้ว่าฯ กทม.ขึ้นเป็นผู้ว่าฯ กทม.ทันที


162712859928

จากนั้น ก่อนการเลือกตั้งใหญ่ 24 มี.ค.2562 กกต.ได้แบ่งเขตเลือกตั้ง ส.ส.กทม.เมื่อปี 2561 ลดจำนวนจาก 33 เขตลดเหลือ 30 เขต ในสภาพพรรคการเมืองหน้าใหม่มากกว่าเดิม โดยผลเลือกตั้งพรรคพลังประชารัฐได้ ส.ส.กทม.มากที่สุด 12 ที่นั่ง พรรคอนาคตใหม่ 9 ที่นั่ง และพรรคเพื่อไทย 9 ที่นั่ง โดยที่ “ประชาธิปัตย์” ไม่ได้ ส.ส.กทม.แม้แต่ที่นั่งเดียว (ต่อมา โชติพิพัฒน์ เตชะโสภณมณี ส.ส.เขตจอมทอง–ธนบุรี พรรคอนาคตใหม่ ย้ายไปพรรคภูมิใจไทย)

ที่สำคัญหากจับสัญญาณความตื่นตัวจากการเลือกตั้ง 24 มี.ค.2562 มีสัดส่วนผู้มาใช้สิทธิมากถึง 72% หรือ 3,247,813 คน จากยอดผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ 4,498,058 คน โดยที่กลุ่ม “เฟิร์สต์ ไทม์ โหวตเตอร์” อายุเกิน 18-25 ปี มีสิทธิเลือกตั้งซึ่งเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ มีสัดส่วนอยู่ที่ 602,898 คนถือเป็นอีกกลุ่มคะแนนสำคัญต่อการชี้ขาดเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม.

ส่วนคะแนนจาก “ป๊อปปูลาร์โหวต” กทม.จากพรรคการเมืองใหญ่ในการเลือกตั้ง 24 มี.ค.2562 พบว่าพรรคอนาคตใหม่ ได้คะแนนมากที่สุดอยู่ที่ 804,272 คะแนน อันดับ 2 พลังประชารัฐ ที่ 791,893 คะแนน อันดับ 3 เพื่อไทย ที่ 604,699 คะแนน และอันดับ 4 ประชาธิปัตย์ ที่ 474,820 คะแนน

เมื่อนำตัวเลขผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง 3,247,813 คน หาร 30 เขต จะมีผู้มาใช้สิทธิเฉลี่ยอยู่ที่ 108,260 คน และเมื่อนำคะแนนป๊อบปูลาร์โหวต “4 พรรคการเมือง“ มาหารค่าเฉลี่ยต่อเขต มีข้อมูลน่าสนใจพบว่า อันดับ 1.เพื่อไทย มีคะแนนเฉลี่ยต่อเขต 27,486 คะแนน (จากส่งผู้สมัครเพียง 22 เขต) 2.อนาคตใหม่ มีคะแนนเฉลี่ยต่อเขตอยู่ที่ 26,809 คะแนน 3.พลังประชารัฐ มีคะแนนเฉลี่ยต่อเขตอยู่ที่ 26,396 คะแนน และ 4.ประชาธิปัตย์ มีคะแนนเฉลี่ยต่อเขตอยู่ที่ 15,827 คะแนน


162712949759

แต่หากวิเคราะห์ถึง “ตัวเลข” คะแนนเสียงเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ครั้งต่อไป จากปัจจัยที่มีหลายพรรคการเมือง และผู้สมัครอิสระลงเลือกตั้งนั้น คะแนนพรรคพลังประชารัฐ 12 เขต 791,893 คะแนนจะเป็นฐานเสียงสำคัญต่อแคนดิเดตตัวแทนพรรค ซึ่งมีกระแสสนับสนุนมาอยู่ที่ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ


162712932857

แต่ฐานจากพรรค “ก้าวไกล” ซึ่งมีฐานเสียงเดิม 804,272 คะแนน “เพื่อไทย” 604,699 คะแนน และ “ประชาธิปัตย์” ที่ 474,820 คะแนนนั้น เมื่อนำตัวเลขทั้ง 4 พรรคมาร่วมกันจะอยู่ที่ 2,675,684 คะแนน โดยที่ตัวเลขผู้มีสิทธิเลือกตั้งเมื่อ 24 มี.ค.อยู่ที่ 3,247,813 เสียง ทำให้มีช่องว่างคะแนน “สวิงโหวต” อยู่ที่ประมาณ 5.7 แสนคน

แต่อย่าลืมว่าการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.รอบนี้ มีหลายปัจจัยต่อคะแนนผู้ชนะการเลือกตั้งที่จะออกมา ทั้งปัจจัยพรรคการเมือง ผู้สมัครในนามอิสระ และสถานการณ์ทางการเมืองพิจารณาได้ ดังนี้

จากเดิมที่ผู้สมัครเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.คนใดได้คะแนนเสียงเกิน 1 ล้านคะแนนมีโอกาสชนะการเลือกตั้ง แต่การเลือกตั้ง 3 มี.ค.2556 ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ที่เบียดชนะ พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ เพียง 2 แสนกว่าคะแนน หมายความว่าการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ครั้งต่อไปตัวเลข “ทะลุล้าน“ อาจไม่มีผลโดยตรง เมื่อฐานเสียง 4 พรรคการเมืองใหญ่มีตัวเลขห่างกันแต่ละช่วงไม่ถึง 2 แสนคะแนน ย่อมมีโอกาสตัดคะแนนสูงกว่าการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.เมื่อ 3 มี.ค.2556

โดยเฉพาะหากพรรคการเมืองที่มี “ฐานเสียง“ ใกล้เคียงกันอย่างพรรคอนาคตใหม่ พรรคเพื่อไทย หรือ “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์“ ลงในนามอิสระ จะทำให้ทั้ง 3 กลุ่มมีคะแนนเสียงตัดกันเองแล้ว ส่งผลให้ “พลังประชารัฐ” ยังมีโอกาสมากกว่าพรรคประชาธิปัตย์ที่มีคะแนนป๊อปปูลาร์โหวต คนกรุงน้อยกว่าถึง 317,073 คะแนน

นอกจากนี้ต้องวิเคราะห์ปัจจัย “ของใหม่” ที่มาเรียกกระแสคนกรุงเทพฯ จากกระแสข่าวกับ “ดร.เอ้” สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กับพรรคประชาธิปัตย์ ที่อาจเป็นตัวเลือกที่ประชาธิปัตย์มองว่าจะได้ฐานเสียง “คนรุ่นใหม่“ หรือท่าที “พรรคกล้า“ และ “ไทยสร้างไทย” ซึ่งคาดว่าจะเร่งเดินหน้าขยายฐานเสียงคนกรุงฯ ส่งผู้สมัครเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.เช่นกัน

ดังนั้น หากวิเคราะห์ตัวเลขผลเลือกตั้งเดิมของ “สุขุมพันธุ์“ จากประชาธิปัตย์เมื่อ 3 มี.ค.2556 กว่า 1.2 ล้านคะแนน แต่กลับหายไปเหลือเพียง 4 แสนจากคะแนนดิบผลเลือกตั้ง 24 มี.ค.2562

โดยส่วนต่าง 8 แสนคะแนนนั้น เป็นสัดส่วนไปอยู่ที่ “พลังประชารัฐ” จึงเป็นไปได้สูงว่าตัวเลขผู้ชนะเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.รอบนี้หากใครได้ประมาณ 8-9 แสนคะแนน ซึ่งเป็น “เพดาน” เสียงป๊อปปูลาร์โหวตกทม.ของพรรคการเมืองใหญ่ในการเลือกตั้ง 24 มี.ค.2562 

แต่อีกหนึ่งปัจจัยจากฐานกลุ่ม “พลังเงียบ“ และตัวแปร “ผู้สมัครอิสระอย่าง “ชัชชาติ“ และ “รสนา โตสิตระกูล“ อดีต ส.ว.ยังมีผลต่อคะแนนสวิงโหวต เนื่องจากปฏิเสธไม่ได้ว่าคะแนนความนิยมในตัว “ชัชชาติ” หลังการเลือกตั้ง 2562 กระแสในสังคมออนไลน์ยังพูดถึงในแง่บวกมาตลอด หรือชื่อ “รสนา“ ในฐานะนักตรวจสอบการทุจริต เคยได้รับคะแนนอันดับ 1 ในการเลือกตั้ง ส.ว.กทม.เมื่อ 2 มี.ค.2551 กว่า 743,397 คะแนน


162712930085

ยิ่งในภาวะแย่งชิงอำนาจ กลุ่ม “ผู้สมัครอิสระ“ จะใช้กลยุทธ์นี้ชูจุดแข็งไม่มีการเมืองหนุนหลัง ฉีกภาพความขัดแย้งทางการเมืองเรียกคะแนนเสียง เห็นได้จากในสมัยที่ “พิจิตต รัตตกุล“ เคยชนะเลือกตั้งในนามอิสระเมื่อ 3 มิ.ย.2539 โดยได้คะแนนเสียงอยู่ที่ 768,994 คะแนน ชนะ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง จากพรรคพลังธรรมได้สำเร็จ

แต่แนวโน้มทั้งหมดยังอยู่ที่วิธีคิดของคนกรุงเทพฯ ซึ่งอยู่กับ 3 ปัจจัยหลัก 1.สถานการณ์การเมือง 2.นโยบายผู้สมัคร และ 3.ผลงานผู้ว่าฯ กทม.คนเก่า โดยเฉพาะอัตลักษณ์คนกรุงเทพฯ ต้องการเลือก “ของใหม่” มากกว่าของเดิม และมักเลือกผู้ว่าฯ กทม.อยู่ขั้วตรงข้ามรัฐบาล เพื่อไป “คานอำนาจ“ การบริหารประเทศ เห็นได้จากผลการเลือกตั้ง ผู้ว่าฯ กทม. 3 ใน 4 ครั้งหลังสุด ประกอบด้วย

3 มี.ค.2556 ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร จากพรรคประชาธิปัตย์ ชนะเลือกตั้ง ในสมัยที่พรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาล

11 ม.ค.2552 ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร จากพรรคประชาธิปัตย์ ชนะเลือกตั้ง ในสมัยที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาล

5 ต.ค.2551 อภิรักษ์ โกษะโยธิน จากพรรคประชาธิปัตย์ ชนะเลือกตั้ง ในสมัยที่พรรคพลังประชาชนเป็นรัฐบาล

29 ส.ค.2547 อภิรักษ์ โกษะโยธิน จากพรรคประชาธิปัตย์ชนะเลือกตั้ง ในสมัยที่พรรคไทยรักไทยเป็นรัฐบาล

การขยับเปิดตัวกับคนกรุงเทพฯ ของว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.หรือพรรคการเมืองในสถานการณ์ “โควิด” นาทีนี้ เป็นความเคลื่อนไหวเพื่อสะสมเสียงสนับสนุน ก่อนถึงคิวเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.โดยมีผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 4.4 ล้านเสียงของคนกรุงเทพฯ เป็นเดิมพัน.


162712912053
0 views0 comments

Related Posts

See All

This is not a Games

Skip to navigationSkip to content Discover Latest Obsessions These are the core obsessions that drive our newsroom—defining topics of...

Comentarios


No tags yet.
bottom of page