top of page

ศบค.สอบไม่ผ่าน รัฐบาลต้องเร่งแก้ไข



27 กรกฎาคม 2564 | โดย [บทบรรณาธิการ]

131


ที่ผ่านมามีการแสดงความเห็นถึงการเมืองและระบบราชการที่เป็นอุปสรรคในการก้าวข้ามภาวะวิกฤติ โดยถ้ามีการปล่อยให้สถานการณ์เป็นเช่นนี้ต่อไปมีความเป็นไปได้สูงที่ประเทศไทยจะจมอยู่ในวิกฤติโควิด-19 นานกว่าประเทศอื่น

ความพยายามของรัฐบาลในการป้องกันการระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกที่ 3 นับตั้งแต่เดือน เม.ย.2564 ถึงปัจจุบันดูจะไม่เป็นผลเมื่อจำนวนผู้ติดเชื้อถึงวันที่ 26 ก.ค.2564 มีถึง 483,815 คน และจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ต่อวันเกิน 10,000 คน มาเกือบ 2 สัปดาห์ สะท้อนให้เห็นถึงการตัดสินใจว่างแผนรับมือการระบาดที่ยังไม่สัมฤทธิผล และเป็นประเด็นสำคัญที่รัฐบาลจำเป็นต้องทบทวนอย่างละเอียดถึงความผิดพลาดที่เกิดขึ้น เพื่อปรับปรุงแนวทางการทำให้มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และประธานศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ใช้อำนาจเต็มของนายกรัฐมนตรีในการบริหารจัดการสถานการณ์การระบาด โดยนายกรัฐมนตรีใช้อำนาจ พ.ร.บ.รวม 31 ฉบับ แทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การบริหารจัดการมีความคล่องตัวในลักษณะ “ซิงเกิล คอมมานด์” ซึ่งเป็นแนวทางการบริหารงานทำให้เกิดการตัดสินใจที่รวดเร็ว ลดขั้นตอนสายการบังคับบัญชาทำให้เหมาะสมที่จะนำมาใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉิน

รวมระยะเวลาประมาณ 3 เดือน เศษ ที่รอบนี้นายกรัฐมนตรีดึงอำนาจมาใช้เอง โดยมี ศบค.เป็นกลไกในการขับเคลื่อนการบริหารภาวะวิกฤติทั้งการเฝ้าระวัง การจัดหาวัคซีน การควบคุมโรค การเยียวยาประชาชนและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการระบาด แต่จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ต่อวันที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องสะท้อนให้เห็นว่า “ซิงเกิล คอมมานด์” ในแบบปัจจุบันที่มี ศบค.เป็นกลไกหลักยังไม่ตอบสนองปัญหาได้ดีเท่าที่ควรจึงจำเป็นที่นายกรัฐมนตรีต้องไปไล่ดูกลไกส่วนใดที่ไม่ตอบสนองนโยบาย

ที่ผ่านมามีการแสดงความเห็นถึงการเมืองและระบบราชการที่เป็นอุปสรรคในการก้าวข้ามภาวะวิกฤติ โดยถ้ามีการปล่อยให้สถานการณ์เป็นเช่นนี้ต่อไปมีความเป็นไปได้สูงที่ประเทศไทยจะจมอยู่ในวิกฤติโควิด-19 นานกว่าประเทศอื่น ปัญหาจากการเมืองแบบรัฐบาลผสมนำมาสู่การประสานงานเฉพาะกระทรวงที่มีรัฐมนตรีมาจากสังกัดพรรคเดียวกัน ในขณะที่ระบบราชการที่มีกฎระเบียบทำให้ข้าราชการไม่สามารถปฏิบัติการนอกเหนือจากที่ระเบียบกำหนดได้

การจัดหาวัคซีนที่ล่าช้าเป็นตัวอย่างสำคัญของความผิดพลาดเชิงนโยบาย ซึ่งวัคซีนเป็นเงื่อนไขสำคัญที่สุดของการก้าวข้ามวิกฤติ แต่กลับมีอุปสรรคในการจัดหามากทั้งการที่ภาครัฐผูกขาดการจัดหา การจัดสรรไม่ตอบสนองหลักการควบคุมโรค การเพิกเฉยต่อความร่วมมือของประชาชนและภาคเอกชน การบริหารทรัพยากรไม่เต็มประสิทธิภาพและข้อกล่าวหาการคอร์รัปชันงบประมาณโควิด-19 ทั้งหมดนี้ทำให้ ศบค.ที่ตั้งมามากกว่า 1 ปี หลุดพ้นจากคำว่าล้มเหลวได้ยาก และจำเป็นที่รัฐบาลต้องปรุงปรุงการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

1 view0 comments

Related Posts

See All

This is not a Games

Skip to navigationSkip to content Discover Latest Obsessions These are the core obsessions that drive our newsroom—defining topics of...

Comments


bottom of page